MWIT(S) In Retrospect | สามปีที่มหิดลวิทยานุสรณ์ - Part 1: Before

Header image with MWITS school building
ภาพประกอบบทความ : อาคารเรียน มหิดลวิทยานุสรณ์ 1 (ตึก 1)

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศ โรงเรียนแหล่งรวมเด็กเก่ง โรงเรียนที่อัตราการแข่งขันเพื่อสอบเข้าสูงมาก โรงเรียนที่ข้อสอบเข้าโคตรยาก โรงเรียนที่…

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคุณผู้อ่านจะเคยได้ยินเกี่ยวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มาว่าอย่างไรบ้าง แต่ดีไม่ดีอาจจะเป็นอย่างที่เพิ่งกล่าวไปด้านบน ไม่แปลกหรอก เมื่อสัก 3-4 ปีก่อน สมัยที่เราเองก็กำลังสำรวจเส้นทางต่อม.ปลาย เราเองก็มองโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ด้วยภาพประมาณนั้นไม่ต่างกัน

และแน่นอนว่าคงจะสงสัย ชีวิตที่นี่จะเป็นยังไงกันบ้างนะ? เหมือนหรือแตกต่างจากโรงเรียนอื่นยังไงกันเชียว

เวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว มาถึงตอนนี้ เราก็สามารถที่จะตอบคำถามนั้นให้กับผู้อื่นที่สงสัยได้แล้ว เล่าไปพลาง ก็ย้อนมองประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาจากการได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ไปพลาง

ต้องออกตัวก่อนว่าข้อความตลอดซีรีส์บทความนี้ถูกเล่าจากมุมมองส่วนตัว ปะปนไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เราไม่ได้เป็นตัวแทนของนักเรียนทุกคน ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้กิจกรรมเหมือนกับเราทั้งหมด หรือคิดเห็นเหมือนกับเราทั้งหมดแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันก็หวังว่าเรื่องเล่า - หวังว่าบันทึกนี้จะทำให้คุณผู้อ่านพอมองเห็นภาพได้

ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ ที่กำลังตัดสินใจ ผู้ปกครองที่สงสัย คนทั่วไปที่อยากรู้ หรือเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อาจารย์เจ้าหน้าที่บุคลากรคนใน ที่เกิดคิดอยากคลิกเข้ามาอ่าน ถ้าอยากฟังเรื่องเล่าอย่างละเอียด คุณมาถูกที่แล้วล่ะค่ะ~

มาเริ่มต้นเรื่องราวของการเดินทางครั้งนี้กันเถอะ

จากมุมมองของ MWIT(S) รุ่นที่ 26 ห้อง 2 คนหนึ่ง

เฟิร์สต อิมเพรชชั่น

ตอนม.ต้น สมัยที่เริ่มคิดถึงการสอบเข้าม.ปลาย แม่ก็เคยพูดถึงโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แต่พอเจอกับเงื่อนไขสั้นๆ 

"เป็นโรงเรียนประจำนะ ถ้าเข้าไปเรียนก็ต้องอยู่หอ"

"งั้นไม่เอาค่ะ" 

ปัดตกไปง่ายๆ แบบไม่ต้องคิด แล้วก็ไม่ได้นึกถึงอะไรขนาดนั้นอีก ใครจะไปคิดล่ะเนอะ ว่าโรงเรียนที่ไม่เคยอยู่ในเป้าหมาย จะกลายเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของชีวิตไปได้

พอขึ้นม.3 ก็ไปสอบเข้าจนได้ การสอบเข้าโรงเรียนแห่งนี้ต้องผ่าน 2 รอบ รอบแรกจะเป็นข้อสอบฝน วิชาวิทยาศาสตร์ กับคณิตศาสตร์ (ฟังดูธรรมดานะ แต่ปีเรา คณิต 18 ชอยส์ กับวิทย์ มีข้อถูกได้มากกว่า 1 และต้องเลือกครบไม่ขาดไม่เกิน) คัดจากผู้เข้าสอบหลักหมื่นเหลือเพียง 500 คน เราไปสอบก็เพราะ… อืม ก็ไปสอบให้ครบทุกโรงเรียนดังก็แล้วกัน

ครั้งแรกที่เราได้มาเห็นโรงเรียนก็คือวันที่สอบเข้ารอบสองนั่นเองแหละ ในตอนนั้นแทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับที่นี่ รู้แค่เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ รับคนน้อย แล้วก็ข้อสอบชอบออกในรูปแบบที่เด็กมัธยมต้นมักไม่เคยเจอ ความน่าประทับใจของสถานที่คือห้องน้ำสะอาด (เข้าห้องน้ำใต้หอเป็นที่แรก) สถานที่ต่างๆ ก็ดูสะอาดแบบไม่เคยเจอที่โรงเรียนไหน 

นอกจากนี้อีกหนึ่งเฟิร์สตอิมเพรชชั่นที่จำได้แม่นคือ ห้องประชุมจะเยอะไปไหน!? แค่วันเเรกก็เจอกับหอประชุมพระอุบาลีฯ ห้องดร.ณัฐ ห้องดร.โกวิท แล้วหลังจากเข้ามาก็รู้ว่ามีห้องประชุมลับเล็กๆ อีกเต็มไปหมด ตอนนั้นคือ so overwhelming อะ

ห้องประชุมดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อยู่ที่ชั้น 4 ตึก 1 (ขอบคุณภาพจาก MWIT Gallery - การอบรมจิตวิทยาวัยรุ่น 17/10/2560 ค่ะ)

ห้องประชุมดร.ณัฐ ภมรประวัติ อยู่ที่ชั้น 4 ตึก 2 (ขอบคุณภาพจาก MWIT Gallery - การอบรมรู้เท่าทันสื่อ 8/11/2560 ค่ะ)

หอประชุมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์  เป็นหอประชุมใหญ่ อยู่ชั้นบนของโรงอาหาร ปกติจะเป็นพื้นพรมโล่งๆ นั่นแหละ (ขอบคุณภาพจาก MWIT Gallery - สอบเข้าม.4 6-7/1/2561 ค่ะ)

ห้องดาราศาสตร์ 3 มิติ ก็ถูกใช้เป็นห้องเรียนรวมเหมือนกัน จะคล้ายๆ กับโรงหนัง (ขอบคุณภาพจาก MWIT Gallery - School Tour 18/11/2560 ค่ะ)

ว่าด้วยเรื่องการรอบสอง จะใช้เวลา 2 วัน ความน่าจดจำของวิชาสอบ คือ
  • คณิตศาสตร์ เขียนตอบ/แสดงวิธีทำทั้งหมด และมีพาร์ทข้อสอบ Unseen ก็คือมีบทความให้อ่าน แล้วใช้ข้อมูลในบทความตอบคำถาม
  • วิทยาศาสตร์ เป็นการเขียนตอบทั้งหมด ตั้งแต่เติมคำตอบสั้นๆ ไปจนถึงวาดรูป และมีพาร์ท “ประหลาด” ที่ของปีเราคือ ข้อสอบที่แสดงโจทย์เป็น Powerpoint จับเวลา และเมื่อหมดเวลาก็จะรันไปข้อต่อไป ไม่กลับมาอีกเลย ในภายหลังจากเข้ามาเรียนแล้ว จะได้รู้ว่าข้อสอบประเภทนี้เรียกกันว่า แล็บกริ๊ง (เพราะจะมีเสียงกริ๊งดังทุกครั้งที่หมดเวลาข้อนึง)
  • ข้อสอบความถนัดฯ (ไม่ชัวร์นะว่าเรียกว่าอะไร แต่จะเป็นพวก ลอจิก เชาวน์ มิติสัมพันธ์ ความเข้าใจในภาษา เป็นต้น) ไม่ใช้คิดคะแนนในการสอบเข้า แต่ต้องถึงเกณฑ์จึงจะมีสิทธิ์ติด ฟังดูน่ากลัวนะ แต่ไม่มีอะไรให้เครียด จริงจริ๊งงงง
ความทรงจำเล็กๆ ที่บอกทำไมไม่รู้ คือตอนนั้นได้นั่งสอบวิทย์คณิตในห้องเรียนคณิตศาสตร์ค่ะ แต่ความถนัดฯ เขาให้ไปสอบห้องดร.ณัฐ พูดหน่อยว่าห้องดร.ณัฐ โต๊ะเก้าอี้จะเป็นแบบ fixed ไว้กับพื้น และเป็นโต๊ะเลคเชอร์... ซึ่งน่าจะเป็นความรู้สากลนะคะว่าเป็นโต๊ะชนิดที่ไม่เหมาะกับการทำข้อสอบเอาซะเล๊ยยยยย แต่ก็ยังจำเป็นต้องสอบกับโต๊ะชนิดนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

(หมายเหตุ เป็นข้อมูลการสอบปี 2559 เรื่องรายละเอียดการสอบปีปัจจุบันควรอ้างอิงข้อมูลจากประกาศของโรงเรียนดีกว่านะคะ)

Pre-MWITS : ค่ายที่จะตอบคำถาม

ทุกคนที่ได้มีสิทธิ์สอบรอบสองจะได้รับเชิญให้เข้าค่าย Pre-MWITS (หรือที่ภายในโรงเรียนจะเรียกว่า ค่ายพรี) ซึ่งเป็นค่ายที่รุ่นพี่จัดขึ้นเพื่อให้ได้รู้จักโรงเรียน คนที่มาเข้าค่ายจะได้นอนหอ ได้รู้จักรุ่นพี่ ได้ทัวร์โรงเรียนและทำกิจกรรมในโรงเรียน

ผู้ปกครองของน้องๆ ที่มาเข้าค่ายก็จะได้พบผอ.และทัวร์โรงเรียนด้วย เป็นโอกาสเดียว (นอกจาก School Tour ในงาน Open House ที่เพิ่งมีตอนเราอยู่ม.6) ที่ผู้ปกครองจะได้เห็นพื้นที่ชั้นใน อย่างหอพัก หรือตึกเรียนนะคะ เพราะเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ผู้ปกครองก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงบริเวณพวกนั้นค่ะ

ตอนนั้นตัดสินใจเข้าค่ายพรีเพราะรู้สึกว่ายังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับที่นี่เท่าไหร่เลย สิ่งที่ประทับใจที่สุดเกี่ยวกับค่ายพรี ก็คือ การที่รู้ว่ากิจกรรมทั้งหมดนั้นรุ่นพี่ที่เป็นนักเรียนจัดขึ้นมาเองทั้งหมด อันที่จริง ในฐานะคนเข้าค่ายตอนนั้นจะบอกว่าเพอร์เฟ็คก็คงไม่ใช่ แต่การที่เด็กม.4 ม.5 จะมารวมตัวกันแล้วสร้างอะไรที่ใหญ่ขนาดนั้นขึ้นมาเอง ทั้งวางแผนและลงมือดำเนินกิจกรรมทุกอย่าง จัดละครหรือการแสดง สร้างระบบเว็บลงทะเบียนและระบบกิจกรรมรวม มันก็ว้าวแล้วสำหรับเราในตอนนั้น

พี่ๆ ในกลุ่มก็ตั้งใจดูแลมาก ความจริงแล้วงาน Pre-MWITS นี้ นักเรียนม.4 ทุกคนจะมีส่วนร่วม (มากน้อยต่างกันไป) หลายๆ คนที่ได้เข้าค่ายพรีมาปีก่อนหน้าจึงเต็มที่กับงานนี้ เพราะอยากสร้างสิ่งที่น่าจดจำให้กับน้อง

ตัวอย่างบรรยากาศปีที่เราเป็นผู้เข้าร่วม ก็คือค่าย Pre-MWITS The New Wave 2016

นอกจากกิจกรรม ก็จะมีส่วนที่จำลองชีวิตในโรงเรียนนิดนึง คือได้นอนหอ ได้ตื่นเช้ามาทานข้าว เข้าแถวเคารพธงชาติ และโฮมรูม
(แต่เวลาเช้าตรู่ที่พี่เขานัดลงมาทานข้าว ไม่ใช่ accurate representation ของประชากร MWIT ส่วนใหญ่แต่อย่างใด)

รุ่นพี่รุ่นน้องที่โรงเรียนรู้สึกว่าค่อนข้างอบอุ่นตั้งแต่วันแรกของค่ายพรี พี่ที่มาจากโรงเรียนเดียวกันเข้ามาพูดคุย ให้ขนม เอาจริงแล้วที่นี่จะจริงจังกับน้องโรงเรียน-น้องจังหวัดระดับนึงเลยล่ะ โดยเฉพาะถ้าเป็นโรงเรียนหรือภูมิลำเนาที่มากันเยอะมาก สาธิตปทุมวันเอย สตรีวิทยาเอย สวนกุหลาบเอย หรือจังหวัดอำเภอหาดใหญ่เอย

ห้องนอนที่ได้พัก (ซึ่งเป็นของรุ่นพี่ - รุ่นพี่จะต้องย้ายไปนอนที่อื่นชั่วคราว) ก็มีโพสต์อิทและขนมวางทิ้งไว้ให้ บอกว่าหยิบของที่ไม่ได้อยู่ในตู้ไปดูได้ ที่จริงจำไม่ได้ว่าไปนั่งโต๊ะของพี่คนไหน แต่ก็หยิบนิยาย Inferno ของ Dan Brown ของพี่เขามาอ่านจนจบ แหะๆ ขอบคุณค่าา

ปีถัดๆ มา เราเองก็ส่งต่อข้อความจำพวกนี้ไปเหมือนกัน

รูปของที่ได้มาจากค่าย ถ่ายจากบนโต๊ะเขียนหนังสือของห้องที่ไปพัก คุณเห็น Inferno ปกแข็งนั่นใช่ไหมมม?

เมื่อค่ายพรีทำให้เราได้เห็นสิ่งที่โรงเรียนพร้อมที่จะมอบให้ ตั้งแต่สังคมไปจนถึงห้องแล็บและสิ่งอำนวยความสะดวก ความคิดเรื่องการอยู่หอก็ได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง

"ถ้าเกิดว่าการได้ใช้ facility ระดับนี้จะต้องแลกมาด้วยการอยู่หอล่ะก็ มันก็เป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า" นั่นคือสิ่งที่คิดในตอนนั้น

สุดท้ายก็ก้าวเข้ามาเรียนจนได้

อ่านต่อ
(ตอนนี้ลงถึงแค่ Part 1 เท่านั้นนะคะ กรุณาติดตามตอนต่อไป... ขอบคุณที่เข้ามาอ่านค่า)
Part 1: Before | Part 2: M4 | Part 3: M5 | Part 4: M6 | Part 5: After

ความคิดเห็น

POPULAR | ยอดเข้าชมสูง

[แปลเพลง] RADWIMPS - Ai ni Dekiru Koto wa Mada Aru Kai? (OST. Weathering With You ฤดูฝัน ฉันมีเธอ)

รีวิว - Violet Evergarden: Eternity and the Auto Memory Doll

[แปลเพลง] World Changer (THE IDOLM@STER MILLION LIVE! TC02)

[Eng Translation] Xs - Rabbit Fur (THE IDOLM@STER MILLION LIVE! MTW03)

[แปลเพลง] (G)I-DLE - Light My Fire